ข่าว'ฮาคีม'กระตุ้นแฟนบอยคอตต์'เอฟวันบาห์เรน' - kachon.com

'ฮาคีม'กระตุ้นแฟนบอยคอตต์'เอฟวันบาห์เรน'
กีฬา

photodune-2043745-college-student-s
ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลีย กระตุ้นให้แฟนรถสูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก ช่วยกันบอยคอตต์การแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน สนามที่ 2 ประจำฤดูกาล 2019 ในศึกบาห์เรน กรังด์ปรีซ์ ในวันที่ 31 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อประท้วงการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเปิดเผยว่า รู้สึกถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจในบ้านเกิด

กองหลังวัย 25 ปี เดินทางกลับสู่เมลเบิร์น ในช่วงต้นเดือนก.พ. 62 หลังจากที่ถูกจับกุมตัว ที่ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพ.ย. ปีก่อน ขณะเดินทางมาฮันนีมูนกับภรรยา เนื่องจากได้รับคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากทางการบาห์เรน ซึ่งอ้างว่า เขาต้องกลับไปรับโทษจำคุก10 ปี ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางเพลิง สร้างความเสียหายให้กับสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ในระหว่างการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล หรือที่เรียกว่า อาหรับ สปริงส์ เมื่อปีค.ศ. 2011 แต่ ฮาคีม ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอ้างว่าคดีนี้มีนัยยะทางการเมือง

ฮาคีม แสดงความคิดเห็นผ่านคอลัมน์ตัวเอง ที่ตีพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์ "เดอะ การ์เดียน" ของอังกฤษ โดยยืนยันว่า เขาถูกจับด้วยเหตุผลทางการเมือง หลังจากที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ ชีค ซัลมาน บิน เอบราฮิม อัล คาลิฟา ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นสมาชิกในราชวงศ์ของบาห์เรน โดยระบุว่า "เห็นชัดเจนว่า มันเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ที่บอกว่า กีฬากับการเมืองไม่เกี่ยวข้องกัน"

"บางคนคิดว่าการถูกปล่อยตัวของผมคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ขณะที่ผมมีความสุขที่ได้กลับบ้าน แต่โดยส่วนตัว ผมยังไม่สามารถคิดได้ว่า การต่อสู้ของผมได้จบลงแล้ว แม้แต่ตอนนี้ บาห์เรน ก็ยังพยายามดำเนินการทางกฎหมายเพื่อนำตัวผมกลับไป พี่ชายของผมยังติดคุกอยู่ที่นั่น ผมยังไม่เชื่อว่าผมปลอดภัยจากรัฐบาลของบาห์เรนแล้ว" ฮาคีม ยืนยัน

อัล อาไรบี ยังกล่าวถึง นาจาห์ ยูซิฟ นักเคลื่อนไหวชาวบาห์เรน ที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ระบุว่า ถูกสั่งจำคุก 3 ปี ในข้อหาวิพาษ์วิจารณ์รัฐบาล เรื่องการจัดการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง รายการบาห์เรน กรังด์ปรีซ์ เมื่อปีค.ศ. 2017 ด้วยว่า "แฟนๆฟอร์มูลาวันจะต้องช่วย นาจาห์ ฟอร์มูลาวัน จำเป็นต้องช่วยบอกว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน จะต้องหมดไปจากโลกนี้"

"ผมขอกระตุ้นให้คุณบอยคอตต์การแข่งขันบาห์เรน กรังด์ปรีซ์ ในปีนี้ ถ้าหาก นาจาห์ ยังไม่ได้รับอิสระภาพ ก่อนการแข่งขันในเดือนมี.ค. นอกจากนั้น องค์กรใหญ่ในวงการกีฬา รวมถึง ฟีฟ่า (สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) และ ไอโอซี (คณะกรรมการโอลิมปิกสากล), รัฐบาลของทุกประเทศ และเราทุกคน ก็ต้องช่วยกันต่อสู้เพื่อความถูกต้องในโลกใบนี้ด้วย".